อินเวสทรี (ไทยแลนด์) ชี้ทางออกวิกฤตหนี้เสีย SME ใน Talk ลงทุนแมน ต้องแก้ Ecosystem ทั้งระบบ
ในสถานการณ์ที่ภาคธุรกิจกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทาย หนี้เสียของกลุ่ม SME ได้พุ่งสูงถึง 7.35% ซึ่งสูงกว่าช่วงการระบาดของโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจขนาดเล็กและกลางของไทยกำลังอ่อนแรง และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการจ้างงานและคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างไม่รู้จบ เพราะ SME มีสัดส่วนมากกว่า 99% ของธุรกิจทั้งหมดและครอบคลุมการจ้างงานถึง 70% ของประเทศ
คุณณัทสุดา พุกกะณะสุต CEO & Co-Founder บริษัท อินเวสทรี (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็น Platform ระดมทุนที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ SME มาโดยตลอด ได้รับเกียรติร่วมวิเคราะห์แก่นของปัญหาและแนวทางแก้ไข ‘SME หนี้เสียท่วมขั้นวิกฤติ กระทบเศรษฐกิจทั้งระบบ แก้ที่ตรงไหน?” ในรายการ Talk ลงทุนแมน
สถานการณ์หนี้เสีย SME วิกฤต ที่ต้องเร่งแก้ไข
คุณณัทสุดา ได้ยืนยันสถานการณ์ในมุมมองส่วนตัวว่า "ถ้าดูจากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย ถือว่าเราเข้าขั้นวิกฤตมาสักพักแล้ว" โดยชี้ให้เห็นว่า NPL ของภาคครัวเรือนและ SME เริ่มทะยานขึ้นตั้งแต่ปี 2022 อันเป็นผลต่อเนื่องจากช่วงโควิด-19 เมื่อมาตรการพักชำระหนี้หมดไป NPL ก็พุ่งขึ้นสวนทางกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ดิ่งลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ปัญหาเงินจมในสต็อกสินค้า ระยะเวลาเก็บเงินที่นานขึ้น และการถูกบีบอัตราส่วนกำไรจากคู่ค้า (Margin) ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ SME กำลังเผชิญอยู่
ที่มาของปัญหาเกิดจาก สภาพคล่อง อุดตัน
คุณณัทสุดาอธิบายว่าปัญหาสำคัญคือ "สภาพคล่องโดนอุดอยู่" ไม่ใช่แค่สินเชื่อจากสถาบันการเงินที่หดตัว แต่รวมถึงการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ก็ลดลงเช่นกัน สะท้อนว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบเศรษฐกิจกำลังติดขัด นักลงทุนชะลอการลงทุนทำให้เม็ดเงินส่วนใหญ่กระจุกตัวในบัญชีเงินฝาก คนไม่กล้าใช้จ่าย แบงก์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และภาคธุรกิจก็ตึงตัว กลายเป็น "วงจรขาลง" หรือ Viscous Cycle ที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซาลงเรื่อยๆ
นอกจากนี้ SME ต้องเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่, แรงกดดันด้านอัตรากำไร (Margin) และการแข่งขันจากสินค้านำเข้า แต่ปัญหาที่น่ากังวลกว่าคือปัจจัยภายในของ SME อย่างการขาดความเข้าใจในโครงสร้างต้นทุนที่แท้จริงของตนเอง จนมักมองข้าม ‘ต้นทุนแฝง’ เช่น ต้นทุนการจัดเก็บสินค้าคงคลัง หรือต้นทุนทางการเงินจากสินเชื่อเพื่อสต็อกสินค้า ซึ่งนำไปสู่ภาวะ ‘ยิ่งขายยิ่งขาดทุน’ โดยไม่รู้ตัว รวมถึงขาดการวางแผนรับมือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด (Worst-Case Scenario) ทำให้การตัดสินใจในช่วงวิกฤตเกิดความผิดพลาดได้ง่ายขึ้น
Crowdfunding แหล่งเงินทุนธุรกิจ ทางเลือกใหม่ เพื่อ SME ไทย
ในภาวะที่ SME เข้าถึง แหล่งเงินทุนธุรกิจ จากธนาคารได้ยาก Crowdfunding หรือการระดมทุนในหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง จึงเป็นกลไกสำคัญที่คุณณัทสุดาเน้นย้ำว่าสามารถเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SME เข้ากับนักลงทุนได้โดยตรง อินเวสทรี (ไทยแลนด์) มีการวิเคราะห์เครดิตที่เข้มงวดด้วยมาตรฐานวิชาชีพเดียวกับสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณางบการเงิน รายได้ ประวัติการค้ากับคู่ค้ารายใหญ่ รวมถึงการเยี่ยมชมกิจการจริง เพื่อคัดเลือก SME ที่มีศักยภาพให้นักลงทุนได้พิจารณา
ปัจจุบัน อินเวสทรี (ไทยแลนด์) เป็น Market Leader ด้านการระดมทุนให้ SME ไทย โดยเราได้ปลดล็อกแหล่งเงินทุนให้ SME ไปแล้วกว่า 100 บริษัท ผ่านการระดมทุนในรูปแบบหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง มูลค่ารวมกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เข้าถึงการลงทุนในกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย พร้อมรับผลตอบแทนที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมโดยตรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง
ข้อเสนอสร้าง "Ecosystem" ที่เอื้อต่อ "SME"
คุณณัทสุดาได้เสนอแนวทางแก้ไขในระดับโครงสร้างที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ ดังนี้:
-
การปรับปรุง Credit Bureau ควรเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีฐานข้อมูลที่ ครอบคลุม รอบด้าน และเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม หัวใจสำคัญคือการขยายขอบเขตข้อมูลให้ไกลกว่าแค่ประวัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยนำข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) มาใช้ในการประเมินความน่าเชื่อถือ เช่น ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค ข้อมูลการสั่งซื้อและชำระเงินกับคู่ค้า (Trade Credit) เพื่อให้การประเมินความเสี่ยงสะท้อนศักยภาพที่แท้จริง และเปิดประตูสู่แหล่งทุนให้แก่ผู้ประกอบการ SME ได้อย่างทั่วถึง
-
Credit Guarantee ควรมีการทบทวนและขยายบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ขยายขอบเขตการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ครอบคลุมเครื่องมือทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ (Alternative Financing) เช่น หุ้นกู้คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงให้นักลงทุน และกระตุ้นเงินทุนไปสู่ภาคธุรกิจ SME ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
-
การปรับโครงสร้างหนี้ จำเป็นต้องพัฒนากลไกที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้ประกอบการ SME โดยเป้าหมายต้องไม่ใช่เพียงการยืดระยะเวลาชำระหนี้ (Debt Extension) แต่ต้องเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่นำไปสู่ทางออกที่ยั่งยืน (Sustainable Solution) อาจประยุกต์ใช้แนวทางจากต่างประเทศ เช่น การมีหน่วยงานกลางหรือบริษัทเอกชนที่สามารถเข้าซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน เพื่อเข้ามาช่วยปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจควบคู่ไปกับการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพทางการเงินให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
-
การปฏิรูปกฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อยกระดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของธุรกิจ ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดตั้ง การดำเนินงาน ไปจนถึงการเลิกกิจการ นอกจากนี้ ควรออกแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ชัดเจนและตรงเป้า เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเชิงรุกในการส่งเสริมการเติบโตของผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Startup และ SME
-
Capacity Building ภาครัฐควรมีบทบาทนำในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ผ่านโครงการอบรมและให้คำปรึกษาเชิงลึกในด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การเงิน ต้นทุน และอัตรากำไร (Margin)
โดยเน้นย้ำว่าทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เพื่อให้ SME ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติสามารถยืนหยัดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปได้
วิกฤตหนี้เสีย SME เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าเราต้องเร่งหาทางออก อินเวสทรี (ไทยแลนด์) ในฐานะ แหล่งเงินทุนธุรกิจ แบบ Crowdfunding พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุน SME ไทยให้ก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปได้ เพราะ SME คือผู้บริโภคที่สำคัญ และการที่พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
เกี่ยวกับ อินเวสทรี (ไทยแลนด์)
อินเวสทรี (ไทยแลนด์) คือผู้ให้บริการ Crowdfunding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. เรามุ่งมั่นสนับสนุนให้ SME ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วย Crowdfunding Platform ที่เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและโอกาสเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน สนใจระดมทุนผ่านอินเวสทรี คลิกที่นี่